สำนักศิลปะและวัฒนธรรม
วิทยาลัยนอร์ทเทิร์น
กัญชง สายใยแห่งวัฒนธรรม ชนเผ่าม้ง
วัฒนธรรมชาวเขาเผ่าม้ง ถือว่า “กัญชง” พืชพื้นบ้านเป็นของมงคล และมีวิถีชีวิตผูกพันกับ “กัญชง” ตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวม้งลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง ใช้เป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ผูกมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ ใช้ในพิธีเข้าทรงเพื่อสื่อสารกับวิญญาณบรรพชน ใช้เปลือกกัญชงมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม สวมใส่ในงานมงคล วันปีใหม่ และในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ชาวม้งยังนิยมใช้ “กัญชง” เป็นเครื่องดื่มแทนใบชา เป็นอาหาร และเป็นยารักษาโรค โดยเคี้ยวเมล็ดสดๆ เพื่อเป็นยาสลายนิ่วและบํารุงเลือด
ชาวม้งใช้ประโยชน์จากกัญชงมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ เปลือกกัญชงมีความเหนียว เมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้า จึงมีความเหนียวนุ่มทนทาน ยิ่งใช้ไปนานวัน ผ้าจะยิ่งนุ่มมากขึ้น ต่อมาทางการมีนโยบายห้ามปลูกต้นกัญชงเพราะจัดอยู่ในกลุ่มพืชที่ให้สารเสพติด ชาวม้งจึงไม่มีวัตถุดิบในการผลิต จึงต้องสั่งซื้อผ้าใยกัญชงจาก สปป.ลาว พม่า และจีนยูนนาน เข้ามาใช้แทน
ต่อมาปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงผลักดันให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้ปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ศึกษาวิจัยสายพันธุ์กัญชงที่มีสารเสพติดต่ำ จนสามารถขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์และปลูกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มได้ ปัจจุบันกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีอนาคต ทั้งเส้นใย แกน ใบ เมล็ด และช่อดอก สร้างรายได้สูงกว่าพืชเศรษฐกิจตัวอื่นหลายเท่า