องค์ความรู้จากกองกิจการนักศึกษา
เรื่อง สิ่งที่ควรรู้และการเตรียมตัวก่อนไปสมัครงานทั้งงาน part time และ งานประจำ
สิ่งที่ควรรู้และการเตรียมตัวก่อนไปสมัครงานทั้ง งาน part time และ งานประจำ การสมัครงานเหมือนกับการไปเสนอขายสินค้า ซึ่งจำเป็นจะต้องเตรียมตัวให้ดี การเตรียมตัวก่อนสมัครงานเป็นสิ่งจำเป็น จะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนจบการศึกษาในแต่ละปีจะมีผู้จบการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี อาชีวศึกษา ทั้งสายพาณิชย์ ช่างอุตสาหกรรมและครู ทั้ง ปวช. ปวส. ปีละหลายหมื่นคน กระจัดกระจายทั่วประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วจะเป็นแสน ๆ คน และรวมกับผู้ที่ตกค้างจากปีก่อน ๆ ที่ยังไม่ได้งานทำอีกมาก
ความเชื่อที่ว่าเรียนเก่งหรือเรียนดีแล้วจะหางานง่ายนั้น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป ในยุคปัจจุบัน การรับคนเข้าทำงานในทุกวันนี้นั้นจะพิจารณาสิ่งอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น บุคลิกภาพ ความคล่องตัว ความอดทน ความเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบ เป็นต้น การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ในการหางานทำหรือสมัครงานจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีและควรเข้าทำนองที่ว่า "ฟอร์มดีมีชัยไปกว่าครึ่ง"
การจะไปหางานหรือไปสมัครงาน เราที่จะต้องรู้ว่ามีอะไรที่น่าสนใจในตัวเรา สิ่งที่น่าสนใจนั้นต้องเป็นสิ่งที่ผู้สมัครนั้นสนใจด้วยก็เหมือนกับว่าคุณเป็นเซลแมนหรือเซลวูแมนที่จะเสนอขายสินค้า การเสนอขายสินค้าได้ จำเป็นจะต้องมีเทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ซื้อสินค้าพร้อมที่จะอยากได้สินค้าเอาไว้ ถ้าคุณทำได้ โอกาสที่คุณจะได้งานทำก็มีมาก การเตรียมตัวเพื่อการสมัครงาน และเพื่อให้สามารถหางานทำได้เร็วยิ่งขึ้นควรมีการเตรียมตัวดังนี้
เตรียมหลักฐานการสมัครงาน
ผู้สมัครงานจะต้องเตรียมหลักฐานการสมัครงานต่าง ๆ เช่น ใบรับรองผลการศึกษา, ใบสุทธิรูปถ่าย, บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา, สำเนาทะเบียนบ้าน, ใบปลด รด.,และหลักหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หนังสือรับรองการฝึกงานจากผู้ที่เคยจ้างงาน หรือรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา นอกจากหลักฐานการดังกล่าวแล้ว ผู้สมัครงานควรเตรียมเครื่องเขียนปากกา ยางลบ ดินสอ ซองจดหมาย หลักฐานการสมัครงานควร เตรียมเอาไว้หลาย ๆ ชุด เพื่อสมัครงานหลาย ๆ แห่ง
เตรียมเครื่องแต่งตัว
ผู้สมัครงานควรเตรียมเสื้อผ้า รองเท้าที่สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับบุคลิกภาพของตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง เพียงแต่ให้ดูสะอาดตา ตลอดจนทรงผมไม่ควรที่จะรุงรังจนเกินไป
เตรียมตัวเตรียมใจ
ผู้สมัครงานนอกจากเตรียมหลักฐาน เตรียมเครื่องแต่งตัวแล้ว จะต้องมีการเตรียมใจ พูดง่าย ๆ ก็คือ เตรียมใจ เตรียมกาย และเตรียมสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นหรือคิดว่าจำเป็นไว้ให้พร้อมเพราะว่าชีวิตที่อยู่ในวัยเรียนกับชีวิตที่อยู่ในวัยทำงาน มันแตกต่างกัน ถ้ายังอู่ในวัยเรียน ถ้าเรียน ไม่ดีก็สอบตก หรือเรียนซ้ำชั้น สอบใหม่ แก้ตัวใหม่ได้ ถ้าอยู่ในวัยทำงาน ทำผิดพลาด หรือผลงานไม่ดี อาจถูกตำหนิ หรือตักเตือน ภาคทัณฑ์ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับตัว ปรับใจ ปรับความรู้สึก พร้อมที่จะรับสภาพความเป็นผู้ใหญ่
ก่อนสมัครงานควรรู้จักสิ่งเหล่านี้
มนุษย์ทุกคนมีความสามารถและคุณค่าบางอย่างในตัวเองเสมอ หน้าที่ของคุณพยายามค้นหา (ถ้าคุณยังไม่รู้) ความสามารถนั้นในตัวเองและแสวงหางานที่เขาต้องการความสามารถนั้นให้เจอ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจสมัครงานตำแหน่งงานใด ๆ ก็ตามควรคำนึงถึง 2 จุดนี้ คือ รู้เขารู้เรา ดังสุภาษิตจีนที่ว่า "รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" นั่นเอง ต่อไปจะเป็นรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ
1. "การรู้จักตัวเอง" หรือ รู้เรา
ทำไมจึงต้องรู้จักตนเอง ที่ต้องรู้จักตนเองก็เพราะการหางานก็คือการ "ขาย" ตนเองชนิดหนึ่งเป็นการเสนอขายความรู้ ความสามารถ ของตัวเองให้แก่บริษัทนั่นเอง โดยการรู้จักตนเองนี้ก็จะต้องผ่านบันได 9 ขั้น แห่งการเข้าใจตนเอง ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 : ค้นหาทักษะ (SKILL)
จะเห็นว่าทักษะนั้นเป็นรากฐานของการทำงานทุกชนิด ไม่มีงานชนิดไหนเลยที่ไม่ต้องใช้ทักษะ ดังนั้นการค้นหาทักษะในตัวคุณจึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกของการทำงานคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยสนใจที่จะทำความเข้าใจกับตัวเองว่าเขามีจุดเด่น หรือความสามารถอะไรบ้างเมื่อถูกถามในเวลาสัมภาษณ์จึงมักงงเป็นไก่ตาแตก ตอบไม่ถูก ทำให้กลายเป็นคนที่ดูเหมือนไม่มีจุดเด่นอะไร ไม่มีใครมีทักษะที่ไม่สามารถหางานทำได้ สมมุติว่า คุณมีทักษะที่ชอบทำตามคำสั่งผู้อื่น คุณอาจจะพอใจกับงานประเภทที่ต้องถูกสั่งให้ทำ เช่น อาชีพเลขานุการ งานทางธุรการต่าง ๆ แต่บุคลิกของคุณกล้าแสดงออก ชอบโต้เถียงผู้อื่น คุณอาจเหมาะกับอาชีพประเภททนาย หรือนายหน้าก็ได้เห็นหรือไม่ว่า การค้นหาทักษะในตัวเองจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการหางานที่ถูกใจคุณถ้าเห็นด้วยเรามาเริ่มต้นกันเลยดีไหม? เพราะฉะนั้นตัวอย่างของทักษะ เช่น การตัดสินใจในตนเอง ความจริงใจต่อกัน การเป็นผู้นำ การสื่อสารเขียนหรือพูด ฯลฯ
ขั้นที่ 2 : สำรวจจุดเด่นของตนเอง
จุดเด่นของคุณก็มีผลกับการหางานมากพอ ๆ กับทักษะจุดเด่น เป็นลักษณะทางบุคลิกภาพที่ทุกคนมี งานทุกชนิดต้องการคนที่มีบุคลิกบางอย่างที่เด่นเป็นเฉพาะ เช่น ถ้าคุณจะไปทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ คุณควรมีบุคลิกที่เข้ากับคนง่าย รู้จักจัดการเกี่ยวกับคนหรือถ้าจะไปทำงานเป็นพนักงานบัญชี คุณควรมีบุคลิกที่ละเอียดรอบคอบ เป็นต้น จุดเด่นที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องมีแต่ลักษณะนั้นเท่านั้น เพียงแต่คุณมีลักษณะบางประการ ที่เด่นเหนือลักษณะอื่นอยู่บ้างเท่านั้น เพื่อจะให้มองภาพจุดเด่นที่ชัดขึ้น จึงขอยกตัวอย่างจุดเด่นเพิ่มเติมอีก เช่น สนใจใฝ่รู้ทางวิชาการ ปรับตัวง่าย ตื่นตัวอยู่เสมอ ดึงดูดความสนใจ ระมัดระวัง ความรับผิดชอบสูง มองการณ์ไกล เป็นการเป็นงาน ละเอียดรอบคอบ สง่าผ่าเผย ฯลฯ เป็นต้น
ขั้นที่ 3 : สำรวจความสัมฤทธิ์ผลทั่วไป
ในขั้นนี้เป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของการรู้จักตนเอง ขอให้คุณนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่มีความหมายสำหรับคุณในอดีตซึ่งอาจจัดว่า เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของชีวิต พยายามนึกให้ได้ว่าในชีวิตคุณมีความสำเร็จอะไรบ้างอย่าตอบว่าไม่มีเลย เพราะไม่จริง ในแต่ละวันที่เรามีชีวิตอยู่นั้น เราจะต้องมีความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ อาจเป็นความรู้สึกประทับใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจจะไม่มีความหมายสำหรับผู้อื่น แต่มีความหมายสำหรับตัวเรา เช่น ทำการฝีมือได้รางวัลชมเชยหรือต่อรูยาก ๆ ได้สำเร็จก็ได้ ความสำเร็จในอดีตนี้ช่วยในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต
ขั้นที่ 4 : สำรวจความชอบ/ไม่ชอบ
ในขั้นนี้เป็นของการลองกลับไปคิดใหม่อีกครั้ง ถึงเหตุการณ์สมัยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะตอนขณะอยู่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น ฯลฯ มีอะไรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นที่ทำให้คุณไม่ชอบใจบ้าง? และขอให้จำลักษณะบุคลิกของบุคคลที่คุณไม่ชอบใจนี้ไว้ด้วย คุณจะได้รู้ว่าบุคคลประเภทใดที่คุณอยู่ด้วยแล้วจะไม่มีความสุข
ขั้นที่ 5 : สำรวจขีดจำกัด
ไม่มีมนุษย์คนไหนที่สมบูรณ์ดีพร้อม คุณก็เช่นเดียวกัน เราทุกคนยังเป็นมนุษย์ที่ย่อมมีข้อบกพร่องการรู้จักตัวเองของคุณ ไม่ควรจะหมายความถึงการรู้จักแต่ส่วนดีของตัวคุณเท่านั้น คุณยังต้องรู้จักจุดอ่อน หรือขีดจำกัดของตัวคุณอีกด้วย จึงจะนับว่าเป็นการรู้จักตนเองอย่างแท้จริงจุดอ่อนที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางและทำให้คุณไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พยายามนึกทบทวนดูให้ดีและอย่าปิดบังตัวเอง คุณจะต้องพยายามทำความรู้จักกับกับทุกส่วนของบุคลิกคุณอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น คุณอาจเป็นคนมีความคิดอ่านดีในสมัยอยู่โรงเรียนมัธยม แต่คุณมักจะไม่กล้าใคร่แสดงตัวหรือแสดงความคิดให้ปรากฏ ทำให้ผู้อื่นรับหน้าที่นี้แทนคุณไป และความคิดเขาก็ไม่ได้ดีไปกว่าความคิดของคุณเลยถ้าเป็นเช่นนี้ แสดงว่าจุดอ่อนของคุณอยู่ที่การขาดความกล้า หรือไม่มีลักษณะเป็นผู้นำ เป็นต้น เมื่อสำรวจเสร็จก็ขอให้จดจำขีดจำกัดของตัวคุณไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกสมัครงานในตำแหน่งนั้น ๆ ต่อไป
ขั้นที่ 6 : สำรวจค่านิยม
ค่านิยมคืออะไร และมีความสำคัญกับการหางานทำของเราอย่างไร? คุณอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจถึงความสำคัญของค่านิยมให้คุณลองนึกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้าเผอิญคุณเป็นชาวพุทธ แต่เผอิญได้ได้ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ และคุณจะต้องลงมือเป็นผู้ลงมือฆ่าสัตว์เหล่านั้น คุณคิดว่า คุณจะทำงานหน้าที่นั้นด้วยความสบายใจหรือไม่และจะทำไปได้นานสักแค่ไหน? แน่นอนคุณคงทำไปด้วยความไม่สบายใจ และถ้าต้องทำต่อไป คุณก็คงจะอยู่ในงานนั้นได้ไม่นาน นั่นก็เพราะค่านิยมที่ตัวคุณยึดถือไปขัดกับค่านิยมงานที่คุณทำดังนั้นค่านิยม จึงหมายถึง สิ่งที่เรายึดถือว่า ดีงาม สมควรปฏิบัติ เช่น ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ ความมั่นคง ความปลอดภัย และความเสียสละ เป็นต้น
ขั้นที่ 7 : สำรวจความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคคลอื่น
สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเข้าใจคือคุณจะต้องอยู่กับคนไปตลอดชีวิต การเข้าใจความสัมพันธ์ที่มีต่อกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการอยู่ร่วมกัน และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพความสัมพันธ์ที่ต้องมีกับบุคคลอื่น ๆ จะต่างกันในงานแต่ละชนิดมีงานบางประเภทที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นตลอดเวลา และบางประเภทก็แทบจะไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่นเลยถ้าคุณสำรวจความสัมพันธ์แล้วพบว่า คุณชอบการสร้างสรรค์ พึงพอใจในการได้อยู่ในกลุ่มคน ก็แสดงว่าคุณคงจะมีความสุข ถ้าคุณได้งาน ที่เปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์ และอยู่กับผู้อื่น แต่ถ้าคุณชอบอยู่ของคุณตามลำพังไม่ต้องการยุ่งกับผู้อื่นมากนัก ก็ไม่ควรไปสมัครงานที่ต้องการมนุษย์สัมพันธ์มาก ๆ อาจเลี่ยงไปทำงานประเภทที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข หรือวัตถุแทน เป็นต้นบุคลิกภาพของคุณและของงานแต่ละชนิดจะต้องถูกนำมาพิจารณาประกอบกันและหาตัวร่วมที่เหมาะสม เพราะคุณจะไม่มีความสุขเลย ถ้าคุณทำงานที่มีลักษณะไม่ตรงกับบุคลิกภาพของคุณ
ขั้นที่ 8 : สำรวจสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
คุณเชื่อหรือไม่ว่า สิ่งแวดล้อมในการทำงาน หรือบรรยากาศการทำงานมีผลอย่างยิ่งต่อสภาพจิตใจของคน?ลองนึกง่าย ๆ ถ้าตัวคุณไปนั่งทำงานในห้องแคบ ๆ ไม่เจอผู้คนเลยทั้งวัน คุณจะทนทำไปได้สักกี่วัน?การทำงานนั้น มิใช่เป็นเพียงกระบวนการ ที่สักแต่จะให้ได้งานเท่านั้น แต่สิ่งแวดล้อมที่ประกอบการทำงานนั้นเป็นของสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวงานเลยซึ่งมิได้หมายความว่าให้คุณเลือกทำงานแต่ในห้องแอร์ปูพรมจรดฝา แต่สิ่งที่กำลังอยากให้คุณพิจารณาคือ ความสามารถอย่างที่คุณมี จุดเด่น ทักษะ ความต้องการและค่านิยมของคุณนั้นควรจะเหมาะกับงานชนิดไหนและอยู่กับสิ่งแวดล้อมคร่าว ๆ อย่างไร แต่คุณจะต้องมีความยืดหยุ่น พอที่จะปรับความต้องการของคุณให้เข้ากับสิ่งที่คุณได้ตามสมควร
ขั้นที่ 9 : ความต้องการเกี่ยวกับเงินเดือน
คุณคงจะต้องพิจารณาคร่าว ๆ ถึงความต้องการว่าคุณมีความต้องการอย่างไรในเรื่องนี้ การเรียกร้องเงินเดือนเท่าใดนั้น คุณควรจะต้องไปทำการค้นคว้าว่าโดยทั่ว ๆ ไป บุคคลที่จบระดับการศึกษาเดียวกันกับคุณ หรือผู้ที่ทางบริษัทรับเข้ามาในตำแหน่งที่คล้ายกับคุณสมัครนั้น ได้รับเงินเดือนประมาณเท่าใดส่วนใหญ่ ถ้าเป็นงานราชการเงินเดือนที่คุณได้จะเป็นไปตามวุฒิที่ทางการกำหนดไม่มีการต่อรองแต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจอาจมีอัตราการจ่ายเงินเดือนที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาด ความมั่นคงและระบบการบริหารของบริษัท เช่น ถ้าเป็นบริษัทเล็ก ๆ ทำกันเองภายในครอบครัวก็อาจตั้งเงินเดือนให้คุณเองตามใจปรารถนาของเขาแต่บริษัทส่วนใหญ่ มักถือเอาตามวุฒิการศึกษาเป็นเกณฑ์ ในการจ่ายเงินเดือนในกรณีที่คุณไม่มีการศึกษาสูงนัก แต่มีประสบการณ์ทำงานมากก็อาจได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน และได้เงินเดือนสูงพอ ๆ หรืออาจจะดีกว่าผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าคุณ แต่ขาดประสบการณ์เท่าคุณก็ได้
ดังนั้นถ้าคุณเคยมีประสบการณ์ในการทำงานที่คล้ายคลึงกับที่เขาต้องการ ย่อมจะมีภาษีกว่าผู้ที่จบใหม่ ๆ ที่รับเข้ามาก็ต้องมาเสียเวลาและค่าใช้จ่ายฝึกใหม่ นอกจากนี้ถ้าคุณมีประสบการณ์ทำงาน คุณมักจะต่อรองเรื่องเงินเดือนกับผู้จ้างได้มากกว่าผู้ขาดประสบการณ์
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะมีหรือไม่มีประสบการณ์ ความต้องการของคุณก็ยังเป็นตัวกำหนดการหางานและเงินเดือนที่คุณประสงค์อยู่นั่นเอง